ชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาในญี่ปุ่นแตกต่างจากเยอรมนีอย่างไร

การหาความสมดุลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและทางการเรียน

  • ชีวิตในญี่ปุ่น
  • ทำไมต้องเป็นญี่ปุ่น

Arvid

German

Hiroshima University

ปริญญาโท

รูปโปรไฟล์นักเรียน

สิ่งที่ผมเรียน

ปัจจุบันผมกำลังศึกษาอยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมและการประยุกต์เพื่อสังคมอัจฉริยะ (SMASO) วิทยาลัยของเราตั้งอยู่บริเวณขอบของมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ ภายในอาคาร IDEC ซึ่งเป็นศูนย์กลางนานาชาติที่เต็มไปด้วยนักศึกษาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและแอฟริกา โดยนักศึกษาส่วนใหญ่มาเรียนที่นี่โดยผ่านทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น JICA และ MEXT แม้ว่าผมจะเข้าเรียนในคลาสเรียนที่อาคาร IDEC แต่ห้องวิจัยของผมตั้งอยู่ที่อาคารวิศวกรรมศาสตร์ บริเวณชั้นของภาคสถาปัตยกรรม

ก่อนที่ผมจะมาญี่ปุ่น ผมเคยทำงานกับองค์กรของรัฐบาลเยอรมนีชื่อว่า GIZ โดยมุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาดและการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม ความสนใจของผมในเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและปั๊มความร้อน ได้นำพาผมมาสู่มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ ซึ่งผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสศึกษาอยู่ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ ซายากะ คินดาอิจิ

ด้วยพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ ผมกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ของเยอรมนีว่าด้วยการวางแผนระบบทำความร้อนระดับเทศบาล และวิเคราะห์พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของช่างเทคนิค HVAC ความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นด้านเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและปั๊มความร้อน ทำให้ที่นี่เป็นสภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมในการเรียนรู้มุมมองแบบญี่ปุ่นเกี่ยวกับระบบเหล่านี้ ผมหวังว่าการเรียนปริญญาโทครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานเป็นสะพานเชื่อมระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมนีในภาคส่วนของปั๊มความร้อน

มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะมีวิทยาเขตที่สวยงาม โดยมีสวนขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของพื้นที่มหาวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น

การที่ต้องสมัครเรียนปริญญาโทพร้อมกับโครงการวิจัย ทำให้การทำวิจัยในแต่ละวันของผมมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในเยอรมนีจะไม่ได้ใช้แนวทางแบบนี้ ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน ผมต้องการต่อยอดจากพื้นฐานเหล่านั้น และมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะก็สนับสนุนให้ผมเก็บข้อมูลภาคสนาม ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นที่มีการเรียนการสอน 12 เดือน แบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียน และมีเวลาอีก 12 เดือนสำหรับการวิจัย ช่วยเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถทำการทดลองหรือแจกแบบสอบถามได้อย่างเต็มที่

หลักสูตรปริญญาโทในเยอรมนีมักเป็นแบบต่อเนื่อง (Consecutive) โดยใช้เวลาสองปี และมีเวลาเพียงประมาณ 6 เดือนสำหรับการทำวิจัย ศาสตราจารย์มักมีเวลาจำกัด และนักศึกษาส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลักในห้องสมุด หากในช่วงการทำงานของผม ผมต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิศวกรรมหรือเทคนิคในประเทศเยอรมนี ผมอาจต้องเริ่มเรียนปริญญาตรีใหม่อีกครั้ง เนื่องจากโครงสร้างของหลักสูตรปริญญาโทส่วนใหญ่ในเยอรมนีเป็นแบบต่อเนื่อง แต่ในญี่ปุ่นมีระบบ “นักศึกษาวิจัย” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้พัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นและเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเข้า ผมโชคดีที่สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้ เนื่องจากการสอบเข้าของผมเป็นการนำเสนอผ่านระบบออนไลน์ และหลักสูตรที่เรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด

หลักสูตรปริญญาโทของผมสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่โชคร้ายที่ประมาณ 40% ของวิชาภาษาอังกฤษเหล่านี้ยังไม่มีคุณภาพดีนัก ทักษะภาษาญี่ปุ่นของผมก็ยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะเรียนในคลาสที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ ศาสตราจารย์ของผมจึงจัดกิจกรรมรับประทานอาหารกลางวันแบบ “Brown bag lunch” เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างเพื่อนร่วมแล็บชาวญี่ปุ่นที่ยังไม่ถนัดภาษาอังกฤษกับผมที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นจำกัด ศาสตราจารย์ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี และยินดีช่วยเหลือเสมอ

การผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับชีวิตเมือง

มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะและเมืองฮิงาชิ-ฮิโรชิมะเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเรียน หลังจากที่ผมเคยทำงานอยู่ที่ฮานอยมาก่อน การได้มาใช้ชีวิตในฮิงาชิ-ฮิโรชิมะที่เงียบสงบทำให้รู้สึกผ่อนคลายและเติมเต็มมาก มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะมีสวนที่สวยงามอยู่ตรงกลางมหาวิทยาลัย ทุกวันผมจะปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำคุโรเซะ และในตอนกลางคืน ผมจะเดินไปที่บ่อน้ำของโรงกลั่นสาเกไซโจเพื่อไปตักน้ำสะอาดที่รสชาติดี จากที่นี่สามารถเดินทางไปยังเมืองโอโนมิจิที่สวยงามได้ในหนึ่งชั่วโมง หรือไปยังย่านตัวเมืองฮิโรชิมะซึ่งเต็มไปด้วยแม่น้ำที่สวยงามและแหล่งช็อปปิงมากมายภายในเวลาเพียง 40 นาที ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ผมมักจะปั่นจักรยานข้ามภูเขาไปยังเมืองทาเกฮาระหรือเมืองอื่นๆ ริมทะเลในเซโตะ พื้นที่นี้ยังเชื่อมต่อได้สะดวกกับภูมิภาคคันไซ ชิโกกุ และคิวชูด้วย สำหรับคนที่รักธรรมชาติแล้ว การได้อยู่ที่นี่ถือว่ายอดเยี่ยมมาก

การปั่นจักรยานบนเส้นทางชิมานามิไคโด

ศูนย์สนับสนุนนักศึกษาต่างชาติแห่งฮิโรชิมะมีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มากมายสำหรับนักศึกษา ซึ่งช่วยให้ผมหาที่พักส่วนตัวได้สำเร็จ ที่พักหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่นาข้าวรอบมหาวิทยาลัย โดยมีค่าเช่าเริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 เยนต่อเดือน หากต้องการที่พักที่สามารถเดินไปมหาวิทยาลัยได้ หรืออยากได้ห้องเพิ่มอีกหนึ่งห้อง ค่าเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 เยน ผมมักจะไปซื้อของที่ตลาดเกษตรกร ซึ่งมีอาหารราคาถูกและคุณภาพดี หรือไม่ก็ไปที่ Hallows ซึ่งเปิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ภายในเมืองฮิงาชิ-ฮิโรชิมะ ผมสามารถปั่นจักรยานไปได้ทุกที่ที่ต้องการ แค่คิดถึงขนาดของเมือง ความซับซ้อนของภูมิประเทศ และระบบขนส่งสาธารณะในโตเกียวหรือเขตคันไซ ผมก็รู้สึกเครียดแล้ว ไหนจะค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละวันในเมืองใหญ่เหล่านั้นอีก ฮิงาชิ-ฮิโรชิมะจึงเป็นเมืองที่ค่าครองชีพถูกมากจริง ๆ

“แมนชัน” เหล่านี้อาจจะดูไม่น่ารักเท่าไร แต่ในแง่ของความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและมาตรฐานการอยู่อาศัย ก็อาจจะดีกว่าบ้านหรืออะพาร์ตเมนต์ที่อยู่ในพื้นที่นาข้าว

แม้จะอยู่ในแมนชัน คุณก็สามารถมีห้องปูเสื่อทาตามิแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมได้เช่นกัน

ความท้าทายของการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

อาคารในญี่ปุ่นไม่มีระบบฉนวนกันความร้อน ซึ่งเป็นปัญหาในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยเฉพาะเมื่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้น (ของผมประมาณ 5,000 เยน ส่วนเพื่อนที่อยู่ในอาคารเก่าบางคนต้องจ่ายถึง 10,000 เยน) ทำให้การอยู่อาศัยไม่ค่อยสบายเท่าไรนัก มีอาคารเก่าๆ ที่สร้างด้วยผนังพลาสติกบางราคาถูกอยู่มาก ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องความชื้นหรือเครื่องปรับอากาศ การหาห้องพักที่ดีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานให้เช่าส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาอังกฤษ และหลายแห่งไม่ให้ชาวต่างชาติเช่า นักศึกษาที่คอยช่วยเหลือผมให้การสนับสนุนอย่างดีมาก ถ้าไม่มีเธอ ผมคงลำบากแน่ ๆ! ตอนที่ผมอยู่เวียดนามก่อนหน้านี้ อะพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่มีเฟอร์นิเจอร์ครบ แต่ราคาก็มักแพงสำหรับชาวต่างชาติ ส่วนในเยอรมนี เราต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เองเช่นกัน ผมจึงซื้อของใช้ส่วนใหญ่เป็นของมือสองหรือจากร้าน Nitori ค่าเช่าและเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่นถูกกว่าในเยอรมนีมาก โดยรวมแล้วผมมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้ชีวิตที่นี่ แต่ค่าเงินประกันและค่าธรรมเนียมแรกเข้าในญี่ปุ่นค่อนข้างแพง ในขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ในเยอรมนีมักจะอยู่ในแฟลตแบบแบ่งห้องให้เช่า (Shared flat) แต่ในญี่ปุ่นไม่ค่อยมีวัฒนธรรมนี้ ทำให้บางครั้งการใช้ชีวิตอาจรู้สึกเหงาอยู่บ้าง

โรงอาหารของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ ไม่เป็นมิตรกับผู้ที่ทานมังสวิรัติ และราคาก็ค่อนข้างสูงเล็กน้อย ผมมีห้องครัวที่ดี แต่อะพาร์ตเมนต์ของนักศึกษาส่วนใหญ่นั้นเล็กมาก ทำให้การทำอาหารหรือเตรียมอาหารในครัวขนาดเล็กแบบนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก การออกแบบถนนในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นไม่ได้เอื้อต่อการปั่นจักรยานเท่าไรนัก แต่ก็มีข้อดีตรงที่อากาศค่อนข้างสะอาด และเมื่อใช้เวลาสักหน่อย ก็สามารถค้นหาเส้นทางปั่นจักรยานที่สวยงามได้ ในญี่ปุ่นมีความกังวลเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เสมอ เมืองไซโจนับเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในญี่ปุ่นเมื่อพูดถึงแผ่นดินไหว แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม แม้จนถึงตอนนี้จะยังไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น แต่บางครั้งเราก็ได้รับคำเตือนให้อยู่แต่ในบ้าน ในฐานะที่ผมอายุมากกว่า 30 ปี และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 5 ที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ ผมจึงรู้วิธีปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างได้ดี

แม่น้ำคุโรเซะที่ระดับน้ำเกือบล้นตลิ่ง

การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในญี่ปุ่นของผม

ทุกวันจันทร์ตั้งแต่บ่ายสองถึงหกโมงเย็น ผมเรียนพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น (ซาโด) ส่วนวันอังคารและเย็นวันอาทิตย์ ผมฝึกไอกิโด เนื่องจากการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นอาจทำให้รู้สึกเหงาได้ การมีกิจกรรมที่ทำเป็นประจำจึงเรื่องสำคัญ และควรคอยมองหาเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมพบปะอยู่เสมอ ศูนย์สนับสนุนนักศึกษาต่างชาติแห่งฮิโรชิมะ รวมถึงกลุ่ม Hiroshima Study Abroad Ambassadors ที่ผมได้เข้าร่วม ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับการสนับสนุนที่ดีมาก

ด้วยความที่ผมมีพิธีชงชาเป็นงานอดิเรก ผมจึงสามารถมองหาพิธีชงชาตามเมืองเก่าแก่เล็ก ๆ ใกล้ ๆ ได้เสมอ หรือเพลิดเพลินกับเครื่องปั้นดินเผาและขนมญี่ปุ่นที่รับประทานคู่กับชาในระหว่างการเดินทาง ผมชอบไปเที่ยวเมืองโอโนมิจิซึ่งนั่งรถไฟไปได้ในเวลาไม่นาน และชอบปั่นจักรยานไฟฟ้าเที่ยวรอบจังหวัดฮิโรชิมะ เพื่อนและครอบครัวของผมหลายคนมาเยี่ยมผมที่ญี่ปุ่น ผมเคยพาพวกเขาไปเที่ยวที่อูจิ, โอซาก้า ,อิเซะ, นาโอชิมะ, คันอนจิ, ฟูจิซัง และมิยาจิมะ และตอนนี้ก็มีทริปใหม่ ๆ วางแผนไว้แล้ว ทั้งไปจังหวัดทตโตริ, ชิมาเนะ และภูมิภาคคิวชู

ผมกับเพื่อนชาวเยอรมันที่มิยาจิมะ

ในเว็บไซต์นี้ จะทำการใช้คุกกี้เพื่อทำการนำเสนอการบริการที่ดีแก่ผู้ใช้งาน
กรณีที่จะรับข้อกำหนดคุกกี้ กรุณาคลิก“ยอมรับ”เกี่ยวกับการตั้งค่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุกกี้ กรุณาคลิกที่“ดูรายละเอียด”